ที่นี่ “บางกรวย” ชุมชน BCG ต้นแบบ
December 1, 2022
กังหันลมผลิตไฟฟ้า นำไปรีไซเคิลได้นะ
December 1, 2022
Show all

ยินดียิ่งแล้ว.. แขกแก้วมาเยือน

👍 เชียงใหม่ตอนนี้ยินดียิ่งแล้วที่แขกแก้วเริ่มมาเยือนอีกครั้ง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเองก็เปิดเรียนในห้องเรียน ภาคบริการเริ่มยิ้มมุมปากได้บ้าง ตัวเมืองก็กลับมาคึกคักหลังจากเงียบเหงาเป็นปี ๆ ถนนที่มีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่อย่างถนนคนเดินท่าแพวันอาทิตย์ ภาพชีวิตปกติใหม่กลายเป็นภาพชินตา ทุกคนรู้ว่าต้องสวมแมสก์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง บางครั้งการได้เดินเที่ยวยามเย็นถึงยามค่ำก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้ชีวิตปกติใหม่เป็นชีวิตที่แสนเพลินได้เหมือนกัน
 
👍 ยามค่ำของวันอาทิตย์บนถนนคนเดินท่าแพ มีกิจกรรมทำบุญใส่ขันดอก บูชาเสาอินทขิลที่วัดเจดีย์หลวง (เสาอินทขิลคือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เป็นเสาที่พระอินทร์ประทานให้เป็นเสาหลักบ้านหลักเมืองคู่บ้านคู่เมืองที่สร้างความมั่นคง สร้างความอยู่ดีมีสุขแก่คนเชียงใหม่) ได้เดินชมความงามของวัดเจดีย์หลวง จนเลยไปถึงวัดพันเตาที่อยู่ติดกัน ที่ตามปกติจะไม่ได้ไปวัดนี้บ่อยนัก แต่สายตาเหลือบเห็นแสงไฟส่องสว่างที่องค์พระเจดีย์กลายเป็นสีทองอร่ามงดงาม เลยเข้าไปดูและได้รู้ว่า มีโครงการเชียงใหม่ Light Up ของทางหน่วยงาน กฟผ. ได้นำไฟส่องสว่างประสิทธิภาพสูง LED แต่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาติดตั้งเพื่อเสริมความงดงามของศาสนสถานหลายแห่งบนถนนคนเดินท่าแพวันอาทิตย์ และได้มาติดตั้งที่วัดพันเตานี้ด้วย
 
🔹 ตามประวัติแล้ววัดพันเตาสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังรายประมาณปี พ.ศ. 1934 ร่วมสมัยกับวัดเจดีย์หลวง ภายในวัดพันเตามีวิหารหอคำหลวง ที่ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง วิหารหลังนี้สร้างในปี พ.ศ. 2390 แต่เดิมเคยเป็นหอคำหรือคุ้มหลวงของพระมโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์เชื้อเจ้าเจ็ดตนและได้ยกถวายวัดในเวลาต่อมา ในวิหารวัดมีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าปันเต้า (พันเท่า) เชื่อว่าสร้างในปี พ.ศ. 1934 พร้อมกับการสร้างวัด พระเจ้าปันเต้า มีความหมายสิริมงคลว่า “ทำอะไรให้ได้ผลสำเร็จ ร้อยเท่าพันเท่าทวีคูณยิ่ง ๆ ขึ้นไป” ส่วนที่คิดว่างามที่สุดของวิหารหอคำคือ หน้าแหนบ (หน้าบัน) เป็นไม้แกะสลักลวดลายงดงามและสมบูรณ์ โดยเฉพาะนกยูงรำแพนที่อยู่ตรงกลางหน้าแหนบช่างงามเหลือเกิน พอได้เห็นแล้วทำให้หวนนึกถึงล้านนาในช่วงที่พม่าปกครอง เพราะนกยูงรำแพนคือสัญลักษณ์ของราชวงศ์พม่าที่สื่อถึงพระสุริยะ และเป็นตราแผ่นดินประจำราชวงศ์ของพม่าด้วย
 
🔹ในปี พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองยึดเชียงใหม่ศูนย์กลางของล้านนาสำเร็จ จากนั้นพม่าปกครองล้านนานานกว่า 200 ปี จนต่อมาล้านนาไปเข้าร่วมกับสยามเพื่อช่วยกัน “ฟื้นม่าน” (ขับไล่อำนาจพม่า) จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2317 ล้านนาเลยมีกลิ่นอายของอิทธิพลพม่าหลายอย่าง เช่น พม่าสมัยราชวงศ์คอนบองได้ตราข้อบังคับให้คนล้านนาปฏิบัติตาม คือผู้ชายต้องสักหมึกขา ส่วนผู้หญิงต้องขวากหูใส่ม้วนลาน (การใส่ต่างหูม้วนเป็นวงกลมขนาดใหญ่จนขนาดของรูบนใบหูมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย บางทีเรียกว่า “ใส่ลานหู”) จนต่อมาข้อบังคับกลายเป็นค่านิยมของคนล้านนา เช่น ผู้หญิงจะไม่ชอบผู้ชายที่ไม่สักหมึกขาเพราะดูไม่แมน และใส่ลานหูกลายเป็นเครื่องประดับเสริมความงามของผู้หญิงล้านนา หรือคำเมืองบางคำก็เป็นคำมาจากภาษาพม่า เช่น สล่า (ช่าง) ปอย (งานรื่นเริง) ส่วนเรื่องความเชื่อที่ได้รับจากพม่า คนล้านนาจะเชื่อเรื่องพระอุปคุตที่มีชื่อเสียงเรื่องการปราบมารและเชื่อว่าพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ คนล้านนาจะเรียกว่า “วันเป็งปุ๊ด” (วันเพ็ญพุธ) พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน เลยกลายเป็นประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น
 
🔹 สิ่งที่ชวนสังเกตคือเอกลักษณ์ของวัดในล้านนา ที่หน้าประตูวัดจะนิยมปั้นรูปสิงห์ สิงห์หน้าวัดได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกามที่พม่านำคติความเชื่อนี้เข้ามาช่วงที่ปกครองล้านนา โดยเชื่อกันว่า สิงห์ เป็น “สัตว์ป่าหิมพานต์” ที่ปรากฏในความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาว่าทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าทางเข้าและออกของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
รู้ไหมว่า สิงห์หน้าวัดเพศอะไร… สิงห์หน้าวัดเป็นตัวผู้ คือดูจากลักษณะของแผงขนสร้อยคอที่ตัวเมียไม่มี ลักษณะการนั่งของสิงห์จะนั่งด้วยสองขาหลัง งอหางขึ้นพาดไว้กลางหลัง สองเท้าหน้ายันพื้น อ้าปาก (เพื่อคำราม) ขนหัวตั้งชัน ความต่างของสิงห์หน้าวัดของพม่ากับของล้านนาคือ ศิลปะดั้งเดิมของพม่านั้นสิงห์จะคาบผู้หญิงไว้ในปาก เรียกว่า “สิงห์คายนาง” และมีขนาดสูงใหญ่ ส่วนสิงห์หน้าวัดของล้านนาจะมีขนาดพอเหมาะได้สัดส่วนสวยงามและไม่สูงใหญ่เท่าของพม่า และไม่ค่อยนิยมสร้างสิงห์คายนางเป็นสิงห์หน้าวัดนัก
อีกวัดที่น่าสนใจไปเที่ยวชมคือ วัดสำเภา เป็นวัดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประตูท่าแพและอยู่ตรงข้ามกับวัดพันอ้น ตามประวัติวัดสำเภาสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงสมัยหลัง ภายในวัดมีวิหารและเจดีย์ศิลปะล้านนา องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยสุวรรณจังโก๋ หรือ ทองจังโก๋ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าเช่นกัน
 
🔹 คำว่า “สำเภา” คำเมืองเรียกว่า “สะเปา” มีเรื่องเล่าคือคนล้านนามีประเพณีหนึ่งที่หากเปรียบกับประเพณีของภาคกลางก็คือ ประเพณีลอยประทีปและเครื่องสักการะทางน้ำ แต่ในวัฒนธรรมล้านนาจะเรียกว่า “ประเพณีล่องสะเปา” ซึ่งตำนานเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ได้เล่าที่มาว่าประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 เกิดอหิวาตกโรคในเมืองหริภุญไชยทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ชาวเมืองจึงอพยพหนีไปอยู่ที่เมืองหงสาวดีและรอจนหลายปีกว่าโรคอหิวาตกโรคจะหายจึงอพยพกลับมาที่หริภุญไชย หลังจากนั้นช่วงยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือน 2 นับแบบล้านนา ตรงกับเดือน 12 ของภาคกลาง) จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ พร้อมด้วยเคื่องคัว (เครื่องอุปโภคบริโภค) ใส่ลงใน “สะเปา” ลอยลงแม่น้ำปิงและน้ำแม่กวงเพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่ตั้งรกรากอยู่ที่หงสาวดี การลอยสะเปายังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ และเพื่อส่งบุญถึงตนเองในภพหน้าด้วย ประเพณีลอยสะเปาเลยกลายเป็นที่นิยมกันนับแต่นั้น
🔹 วัดสำเภายามค่ำของทุกวันอาทิตย์ที่มีถนนคนเดินท่าแพ ภายในวัดจะมีซุ้มอาหารเหนืออร่อย ๆ หลากหลายเมนู เช่น ไข่ป่าม ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวซอย ขนมเส้นน้ำเงี้ยว ฯลฯ มีร้านของฝากงานแฮนด์เมดล้านนา รอต้อนรับแขกแก้วทั้งหลายให้ไปช็อปไปชิม และได้แอ่วชมวัดสำเภาทั้งวิหารและเจดีย์แบบล้านนาที่มีแสงจากไฟ LED ในโครงการเชียงใหม่ Light UP ส่องสว่างให้เกิดความงดงามเป็นฉากหลังไว้ให้ถ่ายรูปเช็คอินในมิติใหม่ ๆ ด้วย
 
ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือนเจ้า
 
🖊 บทความโดย : ดร ภักดีกุล รัตนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *