ช่วงที่ผ่านมาหลายๆคนใช้ชีวิตอยู่บ้าน Work from home นักเรียน นักศึกษาเองก็ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ และปัญหาที่เกิดอยู่บ่อยๆเกี่ยวกับเทคนิคของระบบไฟฟ้า ทำให้ต้องกุมขมับเพราะบางทีเครื่องดับไปแบบไม่ทันได้เซฟงานล่าสุดไว้ หรือบางทีกำลังประชุมงานสำคัญอยู่แต่ต้องหยุดชะงักกลางอากาศเอาดื้อๆ ก็มี
แต่ตอนนี้ปัญหาอาจหมดไปเพราะมีเทคโนโลยีใหม่เป็นนวัตกรรมจัดเก็บและจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อการใช้งานภายในบ้านที่ Tesla บริษัท ผลิตรถEV ชื่อดัง คิดค้นขึ้น ชื่อว่า “Tesla Powerwal”
โดยหลักการทำงานก็เหมือนกับพาวเวอร์แบงก์แต่เป็นระบบที่ใหญ่กว่าซึ่งในมุมมองของผมนั้นเห็นได้ว่าตอบโจทย์การใช้ไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนได้ดีโดยเจ้าเสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้จะปล่อยพลังงานไฟฟ้าสำรองออกมาภายในเสี้ยววินาทีหากเกิดเหตุการณ์ไฟตกหรือไฟดับ
นอกจากนี้ยังรองรับการผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงและวบคุมการใช้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งสะดวกสบายเข้ากับยุคสมัย
ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันแต่เป็นในภาพกว้างระดับประเทศซึ่งก็เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่าง กฟผ. ที่สรรหานวัตกรรมกักเก็บพลังงานที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย ถึง 3 ระบบสำคัญ
1. ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) ช่วยปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า ลดปัญหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ รองรับการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
2. โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-Storage) เป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำที่สุด และสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้
3. ระบบกักเก็บพลังงานด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลม (Wind Hydrogen Hybrid System) เป็นการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน เมื่อกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการของระบบ ไฟฟ้าจะถูกนำไปจ่ายให้กับเครื่อง Electrolyser หรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า
การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานนั้นเป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยช่วยให้จ่ายไฟอย่างมีประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับซึ่งส่งผลให้ภาคประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและภาคอุตสาหกรรมก็เดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลังครับ