หากใครได้ติดตามข่าวจะทราบว่า ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุด และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ปอดของโลก’ อย่าง ป่าแอมะซอน ในประเทศบราซิล มีปริมาณการถูกเผาและตัดไม้ทำลายป่าสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อพื้นที่สำคัญในการช่วยดูดซับภาวะเรือนกระจกกำลังเผชิญภัยคุกคามที่เป็นวิกฤตหนักแบบนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่บราซิล แต่ยังกระจายวงกว้างไปทั่วโลกด้วย ดังนั้นทั่วโลกจำเป็นต้องหันกลับมาวางแผนแนวทางการจัดการกับปัญหาโลกร้อนของแต่ละประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทยตอนนี้เรามียุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่มาขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อย่างล่าสุด กฟผ. ได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เดินหน้าสร้างพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย โดยมีเป้าหมายคือ หยุดท่วม-หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินแผนงานปลูกป่าล้านไร่กับภาคีเครือข่าย ซึ่งมีทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน ซึ่งมีแผนปลูกป่าหลายพื้นที่ เช่น ป่าต้นน้ำ จ.น่าน แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และตาก ป่าชายเลน จ.ชุมพร ปลูกหญ้าทะเลที่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนด้วย