รถยนต์ EV ไม่ต้องชาร์จไฟฟ้า!! เพราะใช้พลังงานแสงอาทิตย์
November 1, 2022
การผลิตไฟฟ้า ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
December 1, 2022
Show all

ไม้หมายวัด ใจเมืองของเมืองเชียงใหม่

 
🌍 คงจะพอคุ้นกับคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และคำนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 การนำแนวคิดการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางหลักของหลายหน่วยงานเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้ไปถึงเป้าหมาย ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือหน่วยงาน กฟผ. ที่ขยับมาตรการหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
 
🌍 การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่าจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นที่มาของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนไปถึงอนาคตเลยก็ว่าได้ เช่น เมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เขียนว่าปี พ.ศ. 1839 พญามังรายทรงสร้างเมืองขึ้นจากสิ่งมงคลหรือชัยมงคล 7 ประการเรียงตามลำดับคือ 1) มีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกอาศัยอยู่ 2) มีฟานเผือก (เก้งเผือก) สองแม่ลูกสู้ชนะสุนัขของนายพราน 3) หนูเผือกและบริวารสี่ตัววิ่งเข้าไปยังโพรงไม้นิโครธ (ต้นผักเฮือด) 4) พื้นที่ลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก 5) มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพโอบล้อมตัวเมือง 6) หนองบัว และ 7) แม่น้ำปิง จะเห็นชัดเจนเลยว่าสิ่งมงคลของเมืองเชียงใหม่ทั้ง 7 ประการคือลักษณะภูมิประเทศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ พญามังรายที่เห็นอัศจรรย์ของหนูเผือกและบริวารจึงสักการะและยกต้นนิโครธหรือต้นผักเฮือดให้เป็น ไม้เสื้อเมือง หรือ ต้นไม้ที่เป็นมิ่งเมืองของเมืองเชียงใหม่ และกลายเป็นต้นไม้สำคัญต่อวิถีชีวิตของคนล้านนามาจนปัจจุบันเพราะเป็นพืชพื้นถิ่นมีร่มเงา โตเร็วและกินได้ เปลือกและลำต้นเป็นยาสมุนไพรต้มกินแก้ปวดท้อง
 
🌳 คำว่า “ไม้หมายเมือง” คำนี้อาจารย์สมพร ยกตรี ปราชญ์ด้านพรรณไม้ล้านนาเป็นผู้บัญญัติขึ้น ไม้หมายเมืองคือ “ภูมินามของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้น ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือเป็นการสร้างเอกลักษณ์และจุดหมายตาที่ชัดเจนด้วยการใช้พืชหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่มองเห็นได้แต่ไกลเพื่อไม่ให้หลงทาง” ไม้หมายเมืองของเชียงใหม่คือ ไม้ยางนาใหญ่ ที่สูงตระหง่านอยู่ข้างเสาอินทขีลในวัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นจุด “ใจเมือง” ของเมืองเชียงใหม่ ตามประวัติวัดเจดีย์หลวงกล่าวว่า ต้นยางนาใหญ่ต้นนี้ปลูกในสมัยพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2324-2358) สันนิษฐานว่าทรงปลูกไว้เมื่อครั้งย้ายจากเวียงป่าซางมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2339 เพื่อเป็นไม้หมายเมือง และปลูกคู่กับเสาอินทขีลที่ย้ายจากวัดสะดือเมืองมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงในปี พ.ศ. 2353 ต้นยางนาใหญ่จึงมีความหมายเป็น ไม้เสื้อเมือง หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องเมืองเชียงใหม่ด้วย
 
🌳 ต้นยางนาใหญ่ยังพบเห็นได้อีกหลายแห่ง เช่น ในวัดเจดีย์หลวง ที่ประตูสวนดอก และประตูสวนปรุง และที่คุ้นตากันมากที่สุดก็คงจะเป็นแถวของต้นยางนาบนถนนสายสารภี หรือถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่าที่มีอายุมากกว่าร้อยปี การใช้ไม้หมายเมืองเพื่อบอกเอกลักษณ์หรือจุดหมายตาที่ชัดเจนบนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนนี้เป็นไปตามนโยบายการแสดงเขตแดนของเมืองให้ชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2445 ของ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เจ้าคุณเชย กัลยาณมิตร) อดีตข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลพายัพในสมัยรัชกาลที่ 5 มีนโยบายให้เมืองเชียงใหม่ปลูกต้นยางนาใหญ่ และให้เมืองลำพูนปลูกต้นขี้เหล็ก เป็นไม้หมายเมืองเพื่อบ่งบอกว่าได้เข้าเขตเมืองนั้น ๆ แล้ว
 
🌳 ส่วน “ไม้หมายวัด” นั้นตามปกติเราคุ้นตากับต้นไม้ที่อยู่ในวัดคือ ต้นโพธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมใต้ต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์จึงมีความสำคัญในแง่สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา วัดวาอารามจึงนิยมปลูกต้นโพธิ์ไว้ในวัด ต้นโพธิ์จึงน่าจะเป็น ไม้หมายวัด ได้ด้วยกระมัง ในเชียงใหม่เช่นวัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอดสร้างขึ้นปี พ.ศ. 1999 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระองค์ได้แบ่งหน่อต้นมหาโพธิ์ที่พระภิกษุสีหลนำมาจากลังกาไปปลูกไว้ที่วัดและตั้งชื่อว่า วัดมหาโพธาราม (วัดแห่งต้นมหาโพธิ์) คำเมืองล้านนาเรียกต้นโพธิ์ว่า ต้นสรี (อ่านว่า สะ-หลี) มีความหมายว่า ดี เลิศ ประเสริฐศรี และถือเป็นคำมงคลที่ดีงามจนนำไปใช้เป็นชื่อวัดอีกหลายแห่ง เช่นวัดศรีเกิด ถ้าเรียกให้ถูกตามหลักภาษาคำเมืองแล้วต้องเรียกว่า วัดสะหลีเกิด ตามหลักฐานบอกว่าพระเจ้ากาวิละทรงโปรดให้วัดใช้ชื่อนี้ เพราะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อว่าได้นำหน่อมาจากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในประเทศอินเดียมาปลูก ต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่ใกล้กับพระเจดีย์ซึ่งอยู่ด้านในของวัด วัดศรีเกิดมีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าแข้งคม ด้วยพุทธลักษณะที่มีพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) มีลักษณะเป็นสันยาวผิดจากพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ชาวบ้านเลยเรียกพระพุทธรูปด้วยชื่อนี้
 
🟠 ขอเล่าต่ออีกสักสองวัด คือ วัดทุงยู และวัดชัยพระเกียรติ ในโคลงนิราศหริภุญไชยซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2060 โคลงบทที่ 12 ผู้แต่งได้เขียนถึงวัดสามแห่งที่อยู่บริเวณใกล้กันคือ วัดศรีเกิด วัดทุงยู และวัดปราเกียร สำหรับวัดทุงยู ถ้าออกเสียงแบบคำเมืองเชียงใหม่จะอ่านว่า “ตุงยู” หมายถึง ร่มที่เป็นเครื่องประดับยศเจ้านาย ในวัดมีพระเจดีย์ทรงกลมศิลปะล้านนาที่ผสมผสานกับศิลปะมอญ-พม่า มีวิหารและอุโบสถศิลปะล้านนาที่สวยงาม ส่วนวัดชัยพระเกียรติ (คนเมืองล้านนาสมัยก่อนออกเสียงว่า ปาเกียร หรือ ผาเกี๋ยน) ภายในวัดมีพระเจดีย์ทรงลังกา มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธเมืองรายเจ้า หรือ พระเจ้าห้าตื้อ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนฝีมือสกุลช่างเชียงใหม่ สิงห์หนึ่ง (ลักษณะเด่นคือมีพระเกศเป็นลักษณะบัวตูม พระศกขมวดเป็นก้นหอยชัดเจน สังฆาฎิอยู่เหนือราวนมปลายเป็นแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบ) ประดิษฐานในพระวิหารของวัดซึ่งคนเชียงใหม่มักจะไปกราบสักการะบูชากันอยู่เนือง ๆ
 
🟠 ขอแนะนำว่าทุกวันอาทิตย์ยามค่ำ ลองหาโอกาสไปกราบขอพรพระเจ้าแข้งคมและพระเจ้าห้าตื้อ และชมความงามของพระเจดีย์ในวัดศรีเกิด วัดทุงยู และวัดชัยพระเกียรติในมิติใหม่ ๆ จากโครงการเชียงใหม่ Light UP ที่หน่วยงาน กฟผ. ได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูงและยังได้ออกแบบการส่องสว่างและตั้งค่าสเปกตรัมของแสงให้นวลตาและเสริมให้องค์พระเจดีย์ดูงดงามยามค่ำคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมความงามของวัดล้านนาและที่สำคัญคือ กฟผ. ยังติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยอย่างที่เขียนไว้ตอนต้นเรื่องด้วย
 
🖊บทความโดย : ดร ภักดีกุล รัตนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *