4 เหตุผลที่ควรเป็นเจ้าของรถ EV
December 15, 2022
เจอ EV แบบนี้ ทราบแล้ว “เปลี่ยน” แน่นอน
December 17, 2022
Show all

โลกร้อน ไฟฟ้า และอินเดีย

🌏🔥 จากรายงาน Global Risks Report ล่าสุดของ World Economic Forum รายงานว่าปัญหาโลกร้อน (Global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถูกประเมินให้เป็นปัญหาที่มีความเสี่ยงสูงสุดในแง่โอกาสที่จะเกิดและความรุนแรงของผลกระทบจากบรรดาความเสี่ยงทั้งหมดของสังคมเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญอยู่ ถ้าถามว่ารุนแรงขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่าหน่วยงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ของยูเนสโกรายงานว่าตอนนี้อุณภูมิโลกร้อนขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียสแล้ว และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนเปลงอุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นจุดวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว และสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ร้ายกว่านั้นคืออุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นไปถึง 2.5 องศาเซลเซียสในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 นี้กันเลยทีเดียว แค่คิดก็สุดจะร้อนแล้ว…
 
🛵 การเดินทางมาประเทศอินเดียในปีนี้ทำให้รู้ว่าอินเดียเผชิญกับปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย จากการบอกเล่าของผู้คนที่เมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) ในรัฐปัญจาบทางเหนือของอินเดีย ต่างบอกว่าหน้าร้อนปีนี้อากาศร้อนที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะช่วงที่พีคสุดคือประมาณเดือนมิถุนายน อุณหภูมิตอนกลางวันสูงสุดถึง 46-47 องศาเซลเซียส ขนาดที่ผู้คนห้ามออกจากที่ร่มโดยเด็ดขาดกันเลยทีเดียว แถมถามไปถามมาก็บอกว่านี่ต้องไปซื้อเครื่องปรับอากาศและจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นแม้จะเลือกซื้อแบบประหยัดไฟเบอร์ 5 แล้วก็ตาม (ที่นี่ใช้สัญลักษณ์ดาว 4 ดวงและ 5 ดวง) ผลที่ตามมาคือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดตามไปด้วยจนทำให้ประเทศอินเดียเผชิญวิกฤตไฟฟ้าร้ายแรงที่สุดนับจากปี พ.ศ. 2558 ที่ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ถึง 1.8% (หรือ 2,410 ล้านหน่วย) อย่างกรณีรัฐทางเหนือของอินเดียซึ่งปกติอากาศจะร้อนน้อยกว่าภูมิภาคอื่นเพราะมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงและติดกับเทือกเขาหิมาลัย แต่ปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในหน้าร้อนของรัฐทางเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 16-75% เช่น รัฐปัญจาบเพิ่มขึ้น 36% รัฐราชสถานเพิ่มขึ้น 28% และรัฐสิกขิมเพิ่มขึ้นถึง 74.7% ภาวะขาดแคลนไฟฟ้าจึงเกิดขึ้น
 
‼ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือตอนนี้ประเทศอินเดียกำลังประสบกับวิกฤตขาดแคลนพลังงานจากปริมาณถ่านหินคงคลังลดลงถึง 13% ขณะที่ประเทศอินเดียใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง 71% อินเดียจึงผลิตถ่านหินไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ประกอบกับราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่เศรษฐกิจโลกได้เริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ประเทศอินเดียจึงออกมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ไขภาวะการขาดแคลนไฟฟ้า เช่นเพิ่มกำลังผลิตถ่านหินด้วยการซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศเพื่อนำเข้าประเทศ การเพิ่มโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชน โดยเฉพาะการออกมาตรการดับไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีและมีแนวโน้มจะดับไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอินเดียจะแก้ไขปัญหาวิกฤติขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าที่ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในครั้งนี้อย่างไร
 
🇮🇳 เห็นอินเดียแล้วก็อดคิดถึงบ้านเราไม่ได้ ไทยก็เป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตพลังงานในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อินเดียขาดแคลนถ่านหิน ในขณะที่เราขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในประเทศจนต้องนำเข้าก๊าซราคาแพงเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน จนรัฐบาลจึงมีนโยบายให้ กฟผ. ยืดแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในยามที่ก๊าซมีราคาแพง ซึ่งถือว่าถ่านหินเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าไฟที่เราต้องเจอไปได้มาก ไม่เช่นนั้นค่าไฟที่เราจ่ายกันอยู่ในปัจจุบันคงจะสูงกว่านี้แน่
 
🖊 บทความโดย : ดร ภักดีกุล รัตนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *