งานประชุม จะดีไหม ? ถ้าเปลี่ยนมาใช้รถอีวี
June 28, 2022
การจัดการขยะแบบ New Normal
June 29, 2022
Show all

“แอ่ววัดแอ่ววา ม่วนอกม่วนใจ๋” แอ่ววัดบนถนนคนเดินท่าแพ เชียงใหม่

“แอ่ววัดแอ่ววา ม่วนอกม่วนใจ๋” แอ่ววัดบนถนนคนเดินท่าแพ เชียงใหม่
ฤกษ์ดีเข้าสู่กลางปีกันแล้ว เลยอยากเล่าเรื่องล้านนาและเมืองเชียงใหม่ผ่านประวัติศาสตร์และมิติใหม่ของความงามของวัดบนถนนคนเดินท่าแพ แบบว่า “แอ่ววัดแอ่ววา ม่วนอกม่วนใจ๋” ที่เชียงใหม่กัน ล้อมวงมาเลยค่ะ ดิฉันจะเล่าให้ฟัง
 
🔸️ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องอาณาจักรล้านนาที่มีอายุ 726 ปีแบบหนึ่งย่อหน้าก่อนนะคะ
กาลครั้งหนึ่งเมื่อนานแล้ว มีอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งชื่ออาณาจักรล้านนา คำว่า “ล้านนา” ตามความหมายที่ปรากฏในภาษาบาลี คือเมืองสิบแสนนา หรือ ล้านนา หมายถึงดินแดนที่มีที่นาจำนวนมาก อาณาจักรล้านนามีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย ล้านนาตะวันตก คือกลุ่มเมืองในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำปิง และแม่น้ำวัง (คือจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง) และล้านนาตะวันออก คือกลุ่มเมืองในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน (คือจังหวัดแพร่ และน่าน) ปัจจุบันคือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (รวมจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปด้วย) โดยมีราชวงศ์มังรายเป็นราชวงศ์แรกที่ปกครองอาณาจักรนับตั้งแต่พระญามังรายทรงก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 1839 กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายมีทั้งหมด 17 พระองค์สืบทอดตั้งแต่พระญามังรายไปจนถึงพระเมกุฎิสุทธิวงศ์หรือท้าวแม่กุ ต่อมาในปี พ.ศ. 2101 พม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองชนะสงครามกับล้านนา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังรายคือพระนางวิสุทธิเทวีทรงปกครองเมืองเชียงใหม่ภายใต้อำนาจของพม่า พม่าปกครองล้านนารวมระยะเวลามากกว่าสองร้อยปี จนต่อมาพระเจ้ากาวิละทรงทำสงครามขับไล่พม่าจากเมืองเชียงใหม่โดยความช่วยเหลือของสยามสำเร็จในปี พ.ศ. 2317 พระองค์ทรงบูรณะบ้านเมืองพร้อมทั้งรื้อฟื้นพระราชพิธีสำคัญ ๆ ในสมัยราชวงศ์มังราย และสถาปนาราชวงศ์เชื้อเจ้าเจ็ดตนในฐานะตระกูลผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนาและยอมรับพระราชอำนาจสยามในฐานะหัวเมืองประเทศราช จนปี พ.ศ. 2442 ล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลในชื่อว่า “มณฑลพายัพ” และในปี พ.ศ. 2476 สยามได้ออกพระราชบัญญัติยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ล้านนาจึงกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยจนปัจจุบัน
คงพอจะเห็นสตอรี่ของของอาณาจักรล้านนากันบ้างแล้วว่าล้านนามีความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามาผลัดเปลี่ยนอาศัยในพื้นที่แห่งนี้ สะท้อนการดำเนินชีวิต จารีตประเพณี และศิลปวัฒนธรรมที่กลมกลืนจนกลายเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ที่ผสมผสานเข้ากับสีสันของสังคมร่วมสมัยได้อย่างลงตัว และกลายเป็นอัตลักษณ์ของเมืองที่ดึงดูดผู้คนเข้ามาอาศัยและเยี่ยมชม จนสมัยหนึ่งถึงกับมีคนบอกว่า “ใครได้ลอดถ้ำขุนตานมาถึงเชียงใหม่…มักไม่ได้กลับสักคน” เพราะติดกับดักมนต์เสน่ห์เมืองเชียงใหม่เข้าให้แล้ว
 
❗️มาถึงเรื่องที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า แอ่ววัดแอ่ววา ม่วนอกม่วนใจ๋ บนถนนคนเดินท่าแพเชียงใหม่ พบว่าคติการสร้างวัดของล้านนาทำให้มีการสร้างวัดจำนวนมากในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่ แต่ละวัดมีความสำคัญและความงามในแบบฉบับของวัฒนธรรมล้านนาที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลากว่าเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา
 
📍มาเริ่มกันที่วัดแรกก่อนคือ วัดหมื่นล้าน วัดหมื่นล้านตั้งอยู่ตรงบริเวณกลางเวียงหรือเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่ ตามประวัติบอกว่าสร้างโดยหมื่นโลกสามล้านหรือหมื่นด้งนคร ซึ่งเป็นขุนนางและนายทหารคนสำคัญในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 9 ในราชวงศ์มังราย ทรงปกครองล้านนาในช่วงปี พ.ศ. 1984 – 2030 ซึ่งในสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่ล้านนาและอยุธยาทำศึกสงครามกันยาวนานหลายปี คำว่า “หมื่น” คือยศศักดิ์ขุนนางชั้นสูงระดับนายหมื่นตามโครงสร้างการปกครองของล้านนา ชื่อของวัดจึงถูกตั้งขึ้นตามชื่อของผู้สร้างคือหมื่นโลกสามล้านนั่นเอง วัดนี้ถูกสร้างขึ้นในปีใส้ (หรือปีมะเส็ง) ตรงกับปี พ.ศ. 2002 และแล้วเสร็จในปีสัน (หรือปีวอก) ตรงกับปี พ.ศ. 2005 เชื่อกันว่าวัดหมื่นล้านสร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารล้านนาและอยุธยาที่ตายเป็นจำนวนมากในการทำสงคราม
 
📍วัดหมื่นล้านมีความงามของการผสมผสานศิลปกรรมแบบล้านนาเดิมเข้ากับศิลปะแบบพม่า นี่เลยชวนคนอ่านลองสังเกตหน้าบันวิหารของวัดหมื่นล้านที่มีลวดลายแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนประดับกระจกสีรายล้อมด้วยพรรณพฤกษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพม่า ส่วนด้านในวิหารยังคงเอกลักษณ์ของวัดล้านนาคือ มีเครื่องสัตตภัณฑ์ (หรือเชิงเทียน) เป็นรูปพญานาคพันกันหลายตัวตามแบบศิลปะล้านนาตั้งเป็นพุทธบูชาอยู่หน้าพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เป็นพระประธาน หรือที่หอไตรของวัดก็ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบพม่า คือให้สังเกตจากงานแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนที่อยู่ด้านบน ส่วนพระเจดีย์มีความงามแปลกตา ก่ออิฐถือปูนและมีสิงห์เฝ้าอยู่แต่ละมุมของพระเจดีย์ก็แสดงถึงศิลปะแบบพม่าเช่นกัน ความงามที่ผสานศิลปกรรมล้านนาและพม่านี้ขอเล่าตามบันทึกที่ระบุว่า มีชาวพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษชื่อ หม่องปันโย เดินทางเข้ามาค้าไม้ในล้านนาตั้งแต่ตอนปลายสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (พ.ศ. 2339-2413) กษัตริย์ในราชวงศ์เชื้อเจ้าเจ็ดตน (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อิทธิพลของอังกฤษได้เข้ามาครอบงำพม่าและอินเดีย และเริ่มแผ่อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในสยามและล้านนา หม่องปันโยได้แต่งงานและตั้งรกรากในเมืองเชียงใหม่ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากสยามให้เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร เพื่อรับสัมปทานเช่าทำป่าไม้ในล้านนา โดยในปี พ.ศ. 2460 หม่องปันโยหรือหลวงโยนะการพิจิตร ซึ่งเป็นคหบดีของเมืองเชียงใหม่นี้เป็นผู้ที่นำทุนทรัพย์มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดหมื่นล้านที่ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา จึงได้นำรูปแบบศิลปกรรมแบบพม่ามาผสมผสานเข้าด้วยกันในการบูรณะวัดหมื่นล้านครั้งจนกลายเป็นวัดที่มีความงามแบบผสมผสานกันอย่างที่เห็น
 
📍มาต่อกันที่ วัดพันอ้น ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเดียวกับวัดหมื่นล้าน ตามประวัติวัดพันอ้นนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2044 ในสมัยพระเมืองแก้ว หรือบางแห่งปรากฏพระนามว่า พระญาแก้ว เป็นกษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราช จากชื่อของวัด เป็นไปได้ว่าผู้สร้างน่าจะเป็นขุนนางยศศักดิ์ชั้น “นายพัน” ตามคติของคนสมัยก่อนที่เชื่อว่าการสร้างวัดถวายเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาเป็นการสั่งสมบุญกุศที่ยิ่งใหญ่มหาศาล อีกทั้งในสมัยพระเมืองแก้วเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาอีกยุคหนึ่งของล้านนา เจ้านายและขุนนางจึงนิยมสร้างวัดเพื่อเป็นพุทธบูชากันทั่วไปในเวียงเชียงใหม่ เช่นวัดพันอ้นนี้ตามหลักฐานจารึกบอกว่ามีวัดอีกแห่งที่อยู่ติดกันคือ วัดเจดีย์ควัน โดยเป็นวัดที่มีเจดีย์ขนาดเล็กทั้งคู่ สูงประมาณ 4-5 เมตร สร้างด้วยดินเหนียวก่ออิฐโดยรอบ ความสำคัญของวัดพันอ้นยังเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสงฆ์ที่รัฐสยามกำหนดให้มีขึ้นตามความประสงค์ของการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรม คือในปี พ.ศ. 2474 เจ้าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้คัดเลือกวัดพันอ้นเป็นสถานที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมหรือที่เรียกว่าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมประจำเชียงใหม่ เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาบาลีศึกษา สามัญศึกษา และปริทัศน์ศึกษาแก่พระสงฆ์
 
📍ไปดูความงามของสถาปัตยกรรมในวัดพันอ้นกันบ้าง ที่แนะนำคือ เจดีย์วัดพันอ้น เจดีย์มีรูปทรงแปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่เชื่อว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างวัดคือมีอายุกว่า 521 ปี และมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง ครั้งที่มีการบันทึกไว้ชัดเจน เช่น ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการบูรณะพระเจดีย์พร้อมนำพระพุทธรูปจากพระวิหารเก่ามาประดิษฐานรอบเจดีย์ทั้งสี่ด้าน แต่หลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุน่าเศร้าขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ที่เจดีย์วัดพันอ้นได้ถล่มลงจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน สำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ได้เข้ามาสำรวจพบว่าแกนในสร้างด้วยดินเหนียว ด้านนอกก่ออิฐฉาบปูนเป็นชั้น ๆ โดยไม่มีโครงสร้าง เสา หรือตอม่อยึดค้ำ เมื่อเจดีย์มีรอยร้าว ถูกน้ำกัดเซาะ เจดีย์จึงพังลงมาจนถึงฐานราก ทำให้ไม่สามารถบูรณะได้เพราะพังลงมาเกือบทั้งองค์ จึงต้องสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่แทนซึ่งองค์พระเจดีย์องค์ที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นองค์ที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม เล่ามาถึงตรงนี้ เรื่องที่อยากบอกคือยังมีวัดเก่าแก่และวัดร้างอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยที่องค์เจดีย์ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ยังขาดการทำนุบำรุงและขาดงบประมาณในการดูแลอย่างทั่วถึง พวกเราจึงควรตระหนักรู้ถึงเรื่องเหล่านี้กันด้วยใช่ไหมคะ
 
📍เอาล่ะ เล่าเรื่องวัดมาตั้งนาน ขอแวะเล่าถึงมิติใหม่ของความงามของวัดบนถนนคนเดินท่าแพกันบ้าง ดิฉันได้ไปเดินเที่ยวช็อป-ชิม แถมช่วยกระจายรายได้ด้วยการซื้อหาข้าวของแฮนด์เมดเก๋ ๆ ไปฝากเพื่อนฝูงและครอบครัว เลยได้ไปเดินชมปรากฏการณ์การท่องเที่ยวยามค่ำคืนภายในวัดหมื่นล้านและเลยไปเที่ยววัดพันอ้นด้วย แหม…มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก เพราะปกติแล้วการเที่ยววัดยามค่ำคืนคงไม่ใช่เรื่องน่าสนุก ดิฉันก็กลัวความมืดเป็นเหมือนกันนะคะ แต่การไปเที่ยวชมวัดครั้งนี้กลับให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากโคมไฟที่สาดส่องพระเจดีย์เกิดเป็นความงามในมิติใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังเป็นการชมวัดยามค่ำคืนที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยเพราะแสงสว่างที่สาดส่อง แต่เดิน ๆ ไปก็คิดว่าการใช้แสงไฟส่องสว่างประสิทธิภาพสูงขนาดนี้จะเปลืองค่าไฟมากไหมหนอ แล้ว กฟผ. จะช่วยเราประหยัดพลังงานบ้างไหม ดิฉันเลยเปิดโทรศัพท์เข้ากูเกิลค้นข้อมูลของ กฟผ. ค่อยยังชั่วหน่อยที่ กฟผ. เขาบอกว่าโครงการเชียงใหม่ light up ที่จัดขึ้นนี้ใช้นวัตกรรมแสงสว่างที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ถึงว่าสิคะ ดิฉันเห็นแผงโซลาร์เซลส์ติดอยู่ใกล้ ๆ กับโคมไฟที่ใช้ส่องสว่างองค์พระเจดีย์ด้วย ทำให้คนชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างดิฉันที่ชอบเรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการเที่ยวศาสนสถานยามค่ำคืนในเมืองเชียงใหม่ล้านนา เพราะนอกจากจะไม่ร้อนจากแสงแดดแล้วยังได้มิติใหม่ของการถ่ายภาพวัดที่ไม่มืดมิดแต่มีแสงส่องสว่างงาม ๆ ที่ขับเน้นให้องค์พระเจดีย์และพระวิหารวัดมีความมลังเมลืองสุกใสจากนวัตกรรมไฟส่องสว่างแบบประหยัดพลังงานของกฟผ.
 
😊 แหม…นี่ยังมีเรื่องเล่าของวัดล้านนาบนถนนคนเดินท่าแพในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่อีกหลายวัดเลย แต่พื้นที่ไม่มีแล้วขอยกยอดไปเล่าให้ฟังใหม่ในคราวหน้าเนาะ
 
🖊 บทความโดย : ดร.ภักดีกุล รัตนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *